วัดยานนาวา จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรม ร่วมบำเพ็ญบุญ เจริญพระพุทธมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา และเวียนเทียน เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชา 2566
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566 เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชา 2566 วัดยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้ พุทธศาสนิกชนเข้าร่วม ทั้งการปฏิบัติธรรม ร่วมบำเพ็ญบุญ เจริญพระพุทธมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา และเวียนเทียน
การนี้ พระครูโกศลวิบูลกิจ วิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ได้จัดให้มีกิจกรรมหล่อเทียนพรรษา และถวายผ้าอาบน้ำฝน อีกด้วย
การถวายเทียนเพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็นพุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎกและในคัมภีร์อรรถกถา ว่าพระอนุรุทธะเถระ เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์) ด้วยด้วยการพรรณาอานิสงส์ดังกล่าว อาจทำให้ชาวพุทธนิยมจุดประทีปเป็นพุทธบูชามานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการทำเทียนพรรษาในประเทศไทยถวายเริ่มมีมาแต่สมัยใด แต่ปรากฏความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่พรรณนาการบำเพ็ญกุศลในช่วงเข้าพรรษาว่ามีการถวายเทียนพรรษาด้วย ซึ่งมีความเชื่อ อานิสงส์ คือ
1.ทำให้เกิดปัญญา ทั้งชาตินี้และชาติหน้า เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน
2.ทำให้สว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมทำให้มีความรุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ
3.ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่างๆ ที่มีปัญหาให้ร้ายกลายเป็นดี
4.เจริญไปด้วยมิตรบริวาร
5.ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
6.เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว
7.เมื่อลาลับโลกนี้ไปย่อมไปสู่สุคติสวรรค์
8.หากบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่พระนิพพาน
ส่วน ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน (ก่อนเข้าพรรษา) ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย “ผ้าวัสสิกสาฏก” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยปรากฏสาเหตุความเป็นมาของการถวายผ้าอาบน้ำฝนในพระไตรปิฎก