ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ เดินทางตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา “เส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” ณ จังหวัดหนองคาย
วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เวลา 08.30 น. นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ เดินทางตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา “เส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” ณ จังหวัดหนองคาย สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดหนองคาย พระธาตุหล้าหนอง และหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย โดยมี นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ พระธาตุหล้าหนอง และวัดโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินการจัดงาน “เส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” โดยบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง นำอัตลักษณ์ วิถีชีวิตท้องถิ่นของคนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีคติความเชื่อเรื่อง “พญานาค” มาเป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ เชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยวในมิติศาสนาและวัฒนธรรม 5 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย จังหวัดนครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย และอุดรธานี
สำหรับเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขงของทั้ง 5 จังหวัดนั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำโขงที่สะท้อนผ่านความเชื่อความศรัทธาและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ โดยเส้นทางดังกล่าวประกอบด้วย
1.จังหวัดนครพนม ได้แก่ วัดมหาธาตุ ลานพญาศรีสัตตนาคราช วัดพระธาตุพนม
2.จังหวัดมุกดาหาร ได้แก่ ลานพญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช พญาอนันตนาคราช วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์
3.จังหวัดบึงกาฬ ได้แก่ ถ้ำนาคา เจ้าปู่อือลือนาคราช
4.จังหวัดหนองคาย ได้แก่ พระธาตุหล้าหนอง วัดโพธิ์ชัย พระธาตุบังพวน และ
5.จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ วังนาคินทร์ คำชะโนด
“วัดโพธิ์ชัย” เป็นพระอารามหลวงที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระใส” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย ตำนานเล่าว่าพระธิดา 3 พระองค์ของกษัตริย์ล้านช้างได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ และถวายนามพระพุทธรูปตามพระนามของแต่ละพระองค์ คือ “พระเสริม” เป็นพระประจำพระธิดาองค์ใหญ่ “พระสุก” ประจำพระธิดาองค์กลาง และ “พระใส” ประจำพระธิดาองค์เล็ก แต่เดิมพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่ที่นครเวียงจันทน์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ลงเรือข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมายังเมืองหนองคาย แต่เกิดพายุพัดแรงจน “พระสุก” จมหายไปในน้ำ ส่วน “พระเสริม” และ “พระใส” ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้อัญเชิญ “พระเสริม” ไปประดิษฐานที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวเมืองหนองคายจะมีงานประเพณีบุญสงกรานต์ และอัญเชิญหลวงพ่อพระใสมาให้ประชาชน ได้สรงน้ำบูชา
“พระธาตุหล้าหนอง” หรือ พระธาตุกลางน้ำ ถูกน้ำกัดเซาะพังทลายลงสู่แม่น้ำโขง เมื่อปี พ.ศ. 2390 ตามตำนานอุรังคธาตุ (พระธาตุพนม) เชื่อกันว่าภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาท จำนวน 9 พระองค์ จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค ๗ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20-22เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวน แต่ในปัจจุบันได้มีการสร้างพระธาตุหล้าหนองหรือพระธาตุกลางน้ำ (จำลอง) ขึ้นเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความ สัมพันธ์ของประชาชนสองฝั่งโขงที่สืบทอดมายาวนาน