“การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสือสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่ายงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกันดำเนินงาน และประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกซึ้งและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดี มีประสิทธิภาพแน่นอนมาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริม เศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง”
ข้อความข้างต้น เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๙ ที่ได้ทรงพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เนื่องในโอกาสการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลก การสื่อสารในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข” ขึ้น เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ และได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นผู้สำเร็จราชการทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเป็นพระองค์แรกต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ทั้ง ๒ กรมนี้ได้รวมเป็นกรมเดียวกัน มีชื่อใหม่ว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กิจการสื่อสารของไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาเป็นสำดับ มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของทางราชการขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น กรมประชาสัมพันธ์ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ในส่วนของภาคเอกชนก็มีบริษัทห้างร้านที่ดำเนินกิจการด้านการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมกันสนองพระราชปณิธานในอันที่จะพัฒนากิจการสื่อสารของประเทศให้เจริญก้าวหน้าตลอดมาจนบัดนี้
ปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและบทบาทของภาคเอกชนมีมากขึ้น รวมทั้งการแข่งขันในกิจการสื่อสารทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ความได้เปรียบในเรื่องเศรษฐกิจของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ขึ้นอยู่กับการมีระบบการสื่อสารให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่น คณะรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของการสื่อสารดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้วันที่ ๔ สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสื่อสารแห่งชาติ” นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา ได้มีการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี พ.ศ. ๒๕๓๓ คณะกรรมการจัดงานวันสื่อสาร แห่งชาติได้มีมติให้งดการจัดแสดงนิทรรศการ คงมีแต่เฉพาะงานพิธีและการประชุมทางวิชาการเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐานและการวางแผนระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม) และในการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติแต่ละปี จะเน้นหัวข้อการจัดงานแตกต่างกันไปทุกปี เช่น
พ.ศ. ๒๕๒๘ หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับเยาวชนแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๐ หัวข้อการจัดงาน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการสื่อสาร
พ.ศ. ๒๕๓๕ หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารเพื่อทศวรรษหน้า
พ.ศ. ๒๕๓๘ หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสนเทศ เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นปีเทคโนโลยีสารสนเทศไทย
ในวันสื่อสารแห่งชาติ ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่
๑. พิธีถวายเครื่องสักการะพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
๒. การกล่าวคำปราศรัยของพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
๓. การจัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกวันสื่อสารแห่งประเทศไทย
๔. การจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม
——————————————————————–
บรรณานุกรม
ชลิยา ศรีสุกใส. วันสำคัญ ประเพณี การละเล่นของไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พีบีซี, มปป.
ธนากิต เรียบเรียง.วันสำคัญไทย.พิมพ์ครั้งที่๑ กรุงเทพฯ : ปิรามิด, ๒๕๔๑.
ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สาขาสารสนเทศ ภาคการศึกษา ๑/๒๕๔๘
งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
ข้อมูล : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา